Column banner

สรุปผลการดำเนินงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากคลื่นสึนามิ ส่วนที่ ๒

 
 

                             การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติโดยสภากาชาดไทย

      สภากาชาดไทยเป็นองค์การกุศลเพื่อมนุษยธรรมที่มีภารกิจหลักในการบรรเทาทุกข์ บำรุงสุข บำบัดโรค กำจัดภัย ส่งเสริมคุณภาพชีวิต คุ้มครองและปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนาใด ภายใต้พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย
     
      เมื่อเกิดเหตุธรณีพิบัติภัยที่มีผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ๖ จังหวัดภาคใต้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะอุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ได้เสด็จ ฯ มาทรงงานและบัญชาการบรรเทาทุกข์ด้วยพระองค์เอง สภากาชาดไทยได้ประสานงานกับเหล่ากาชาดจังหวัดทั้ง ๖ จังหวัดให้ออกดำเนินการช่วยเหลือประชาชนและชาวต่างประเทศที่ประสบเคราะห์กรรมในครั้งนี้โดยทันที เมื่อทรงทราบว่ามีผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมากทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ อาจทำให้มีปัญหาการขาดแคลนโลหิต จึงทรงส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อี-เมล์)ไปถึงสถานทูตต่าง ๆ รวมทั้งโรงแรมที่มีชาวต่างประเทศพักอยู่มาก เพื่อขอความร่วมมือประชาสัมพันธ์ให้ชาวต่างประเทศมาบริจาคโลหิตหมู่พิเศษที่หายากและมีความต้องการมากในขณะนั้น และพระราชทานสิ่งของบรรเทาทุกข์ที่จำเป็นต่าง ๆ อาทิ มุ้ง เต็นท์สนาม สเปรย์และโลชั่นกันยุง ไฟฉายพร้อมถ่าน เสื้อยืดจากร้านภูฟ้า ยาเหลืองสำหรับใส่แผลสด ผ้าดิบ ผ้าปิดปาก ถุงมือยาง ถุงพลาสติกดำ รองเท้าบูต ผ้าห่ม ชุดชั้นใน ผ้าอนามัย อุปกรณ์เครื่องครัว อาหารและน้ำดื่ม เป็นต้น เพื่อนำไปมอบให้ผู้ประสบภัยและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ 


      ในด้านการช่วยเหลือทางการแพทย์ คณะทำงานบรรเทาทุกข์ และทีมแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เดินทางไปร่วมปฏิบัติงานกับคณะแพทย์ของโรงพยาบาลใน ๖ จังหวัด พร้อมเครื่องมือ เวฃภัณฑ์ และเครื่องช่วยหายใจที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน ๑๐ เครื่องให้กับห้องไอ ซี ยู รวมทั้งจัดรถพยาบาลเพื่อรับ-ส่งผู้ป่วยระหว่างจุดต่าง ๆ และตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยขั้นต้นก่อนส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล
      ในด้านการบริการโลหิต ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติได้ส่งโลหิตไปสำรองที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดสงขลาเพื่อเป็นศูนย์กลางในการส่งต่อโลหิตไปยังโรงพยาบาลในพื้นที่ประสบภัย
       สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชดำริให้สภากาชาดไทยช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยในทุก ๆ ด้านเท่าที่สภากาชาดไทยจะพึงกระทำได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งสภากาชาดไทยได้รับสนองพระราชดำรินั้นและนำไปปฏิบัติในทันที เมื่อสถานการณ์ฉุกเฉินเร่งด่วนผ่านพ้นไปแล้ว สภากาชาดไทยได้ดำเนินงานให้ความช่วยเหลือในการฟื้นฟูสภาพ และบูรณะเพื่อการฟื้นตัวผู้ประสบภัย อาทิ


      ๑. โครงการถังน้ำกาชาดช่วยผู้ประสบภัย เพื่อให้มีถังน้ำไฟเบอร์กลาสสำหรับเก็บกักน้ำจืดไว้ใช้ในการอุปโภค-บริโภค โดยจัดซื้อถังน้ำไฟเบอร์กลาสขนาด ๒,๐๐๐ ลิตร จัดสรรให้กับพื้นที่ประสบภัยในจังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง


      ๒. โครงการความร่วมมือระหว่างสภากาชาดไทยและสภากาชาดฮ่องกงในการฟื้นฟูผู้ประสบภัย ประกอบด้วย โครงการจัดหาอุปกรณ์ประมงพื้นบ้านแก่ผู้ประสบภัยอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่มีอาชีพประมงพื้นบ้านให้สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการประกอบอาชีพ เพื่อดำรงชีวิตได้ตามปกติ อุปกรณ์ประมงพื้นบ้าน ได้แก่ กระชังเลี้ยงปลาอวน เบ็ด เป็นต้น และอีกโครงการหนึ่ง คือ โครงการป้องกันอัคคีภัยในชุมชนใน ๖ จังหวัดที่ประสบภัย เป็นการอบรมให้ความรู้แก่สมาชิกในชุมชนเพื่อการดูแลตนเองและกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกถึงความปลอดภัยอยู่เสมอ


      ๓. โครงการหมู่บ้านกาชาดพรุเตียว สภากาชาดไทยร่วมกับจังหวัดพังงา และเหล่ากาชาดจังหวัดพังงาจัดสร้างโครงการหมู่บ้านกาชาดพรุเตียวขึ้น โดยขอใช้ที่ราชพัสดุ ในความดูแลของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง จำนวน ๔๐ ไร่ ที่บ้านพรุเตียว หมู่ที่ ๕ ตำบลบางนายสี อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เพื่อจัดสร้างบ้านพักอาศัย เป็นลักษณะบ้านแฝดรวม ๘๐ ยูนิตให้กับผู้ประสบภัยที่ได้รับความเดือดร้อนเรื่องที่พักอาศัย โดยได้รับความร่วมมือจากทหารช่างเฉพาะกิจเป็นผู้ดำเนินงานก่อสร้าง โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทัพบก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และใช้งบประมาณของสภากาชาดไทย  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ ฯ ไปทรงเปิดโครงการหมู่บ้านกาชาดพรุเตียว เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๘  ขณะนี้ได้จัดให้ครอบครัวราษฎรผู้ประสบภัยเข้าพักอาศัยแล้ว ๗๒ ครอบครัว (๗๒ ยูนิต)แผนการดำเนินงานระยะต่อไปเพื่อให้หมู่บ้านนี้มีลักษณะสมบูรณ์ คือ การก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ลานกีฬาชุมชน หอกระจายข่าว พื้นที่นันทนาการ และระบบสาธารณูปโภคที่สมบูรณ์   

       
      ๔. การจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านน้ำเค็ม สภากาชาดไทยได้ร่วมกับจังหวัดพังงา และเหล่ากาชาดจังหวัดพังงา จัดสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขึ้นในโรงเรียนบ้านน้ำเค็ม ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากสภากาชาดไทย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านน้ำเค็ม เปิดดำเนินการรับเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘ รับเด็กอายุ ๓ – ๖ ปี จำนวน ๑๔๐ คน จากพื้นที่ประสบภัยตำบลบางม่วง และพื้นที่ใกล้เคียงในอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จ ฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก บ้านน้ำเค็ม เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๘


      ๕. โครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนาและสภากาชาดไทย ได้แก่ โครงการชัยพัฒนา-สภากาชาดไทย-ศุภนิมิต ๑ บ้านบางหว้า หมู่ ๙ ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา โครงการชัยพัฒนา-สภากาชาดไทย ๒ บ้านทุ่งรัก หมู่ ๖ ตำบลแม่นางขาว อำเภอคุระบุรี โครงการชัยพัฒนา-สภากาชาดไทย ๓ บ้านหินลาด หมู่ ๔ ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี และโครงการต่อเรือประมงไฟเบอร์กลาส “ชัยพัฒนา-กาชาดไทย”   

   
       ๖. กองทุนช่วยเหลือเด็กกำพร้าตามโครงการพระราชดำริ ฯ เพื่อเป็นทุนการศึกษาสำหรับเด็กกำพร้าที่ประสบภัย


      ๗. โครงการต่าง ๆ ในจังหวัดพังงา  อาทิ โครงการซักผ้าใหม่ให้ผู้ประสบภัยในพื้นที่ โครงการก่อสร้างบ้านพักชั่วคราวและบ้านพักถาวรที่วัดสามัคคีธรรม อำเภอคุระบุรี โครงการมอบทุนการศึกษาเด็กนักเรียนที่ประสบภัย ๔ คนในจังหวัดพังงา โครงการจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนสำหรับนักเรียนโรงเรียนบ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา


      ๘. โครงการต่าง ๆ ในจังหวัดระนอง อาทิ โครงการสร้างโรงเรียนบ้านเกาะเหลาและโรงเรียนหินช้าง โครงการประปาหมู่บ้านผู้ประสบภัยธรณีพิบัติสึนามิ โครงการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ บ้านทะเลนอก


      ๙. โครงการต่าง ๆ ในจังหวัดสตูล อาทิ โครงการสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านปากบารา อำเภอละงู ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หมู่ ๕ ตำบลทุ่งบุหลัง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนูรุ้ลฮูดา มัสยิดกลางทุ่งหว้า หมู่ ๒ ตำบลทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า โครงการซ่อมแซมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาล ตำบลกำแพง อำเภอละงู โครงการสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องเล่นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านบุโบย หมู่ ๓ และศูนย์ฝึกอบรมเด็กเล็กก่อนเกณฑ์ประจำมัสยิด บ้านกาแบง หมู่ ๓ ตำบลแหลมสน อำเภอละงู โครงการปรับปรุงสนามเด็กเล่นโรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูก ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู โครงการสร้างอาคารเรียนและอาคารประกอบโรงเรียนบ้านทุ่ง อำเภอละงู โครงการจัดหาเครื่องมือประมงและซื้อพันธุ์ปลากระพงขาว อำเภอทุ่งหว้า โครงการเลี้ยงปลากระพงขาวในกระชัง อำเภอละงู โครงการจัดทำที่จอดเรือบ้านบาโบย ตำบลละงู อำเภอละงู


      ๑๐. โครงการต่าง ๆ ในจังหวัดตรัง อาทิ โครงการสนับสนุนโรงเรียนบ้านหาดทรายทอง และโครงการสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหาดทรายทอง หมู่ ๔ ตำบลเกาะสุกร อำเภอปะเหลียน โครงการปรับปรุงซ่อมแซมโรงอาหาร จัดหาอุปกรณ์และค่าอาหารกลางวันนักเรียนโรงเรียนบ้านแหลม  โครงการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวและช่วยเงินค่าครองชีพสำหรับคนชราที่เกาะลิบง 

                               การฟื้นฟูประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ

            โดยสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
        
      สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ดำเนินงานโครงการฟื้นฟูประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยสามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพและพึ่งตนเองได้ 
        
     ๑. การฟื้นฟูและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ อาคารเรียน และอาคารประกอบของสถานศึกษาในพื้นที่ ๖ จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ มีความชำรุดเสียหายบางส่วนจนถึงขั้นพังทลายเสียหายทั้งหมด ทำให้ครูและนักเรียนไม่มีสถานที่เรียนและขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชดำริที่จะพระราชทานความช่วยเหลือโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ โดยการสร้าง ซ่อมแซมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียน เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง และให้มีสภาพที่เหมาะสมกับการเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน       
      แนวทางการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหา ได้แก่ จัดสร้างอาคารเรียนและอาคารประกอบ หรือปรับปรุงซ่อมแซมอาคารให้อยู่ในสภาพใช้การได้ ปรับปรุงห้องปฏิบัติการวิชาการ ห้องสมุด จัดหาวัสดุอุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอน โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และคอมพิวเตอร์ ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับจำนวนนักเรียน จัดสร้างหรือปรับปรุงระบบน้ำ ระบบสุขาภิบาล เตาเผากำจัดสิ่งปฏิกูล โรงครัวและโรงอาหาร จัดหาอุปกรณ์การครัวที่จำเป็น จัดสร้างลานกีฬา นันทนาการ 
      การดำเนินงานฟื้นฟูและพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ประสบภัย เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๘ มีโรงเรียนที่ได้รับการฟื้นฟูและพัฒนา รวมทั้งหมด ๔๒ แห่ง ใน ๖ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง ๖ โรงเรียน จังหวัดพังงา ๗ โรงเรียน จังหวัดภูเก็ต ๓ โรงเรียน จังหวัดกระบี่ ๑๔ โรงเรียน จังหวัดตรัง ๕ โรงเรียน จังหวัดสตูล ๗ โรงเรียน  


     ๒. การพระราชทานเงินค่าอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียนในโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ เด็กนักเรียนในโรงเรียนได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ บ้านเรือนตั้งอยู่ใกล้ทะเลถูกคลื่นยักษ์ทำลายเสียหาย ผู้ปกครองที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน สูญเสียอุปกรณ์และเครื่องมือประกอบอาชีพ ทำให้ครอบครัวขาดรายได้ มีเงินไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในครัวเรือน มีผลต่อเด็ก ๆ ที่ไปโรงเรียนแล้วไม่มีเงินพอซื้ออาหารกลางวัน เนื่องจากทางโรงเรียนได้รับการจัดสรรงบประมาณที่จำกัด จึงไม่สามารถจัดเลี้ยงอาหารกลางวันนักเรียนได้ครบทุกคน เด็กนักเรียนบางส่วนจึงไม่ได้บริโภคอาหารอย่างเพียงพอและถูกสุขลักษณะ          
      สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จึงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานความช่วยเหลือให้เด็กนักเรียนเหล่านี้ ซึ่งมีทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาให้มีโอกาสบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วนและสะอาดอย่างน้อย ๑ มื้อใน ๑ วันที่มาโรงเรียน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเงินให้โรงเรียนนำไปจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีสารอาหารครบ ๕ หมู่ เพื่อประกอบอาหารกลางวันเลี้ยงเด็กนักเรียน
      การดำเนินงานสนับสนุนงบประมาณค่าอาหารกลางวัน เริ่มต้นตั้งแต่ภาคเรียนที่ ๒ ของปีการศึกษา ๒๕๔๗ (กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘)จนถึงภาคเรียนที่ ๒ ของปีการศึกษา ๒๕๔๘ (กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙) รวม ๓ ภาคเรียน ระยะเวลา ๒๑๑ วันเรียน มีเด็กนักเรียน ใน ๖ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง ๑๖ โรงเรียน นักเรียน ๒,๐๗๔ คน จังหวัดพังงา ๓๖ โรงเรียน นักเรียน ๕,๑๗๕ คน  จังหวัดภูเก็ต ๒๙ โรงเรียน นักเรียน ๓,๗๖๔ คน จังหวัดกระบี่ ๓๑ โรงเรียน นักเรียน ๒,๘๓๐ คน จังหวัดตรัง ๑๔ โรงเรียน นักเรียน ๑,๕๓๒ คน จังหวัดสตูล ๙ โรงเรียน นักเรียน ๑,๗๙๒ คน รวมจำนวนนักเรียน ๑๗,๑๖๗ คนในโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ จำนวน ๑๓๕ โรงเรียน ได้รับประทานอาหารกลางวันอย่างถูกหลักโภชนาการที่โรงเรียนจัดให้ในวันเรียน เป็นการส่งเสริมพัฒนาการด้านการเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและสติปัญญา และสนับสนุนความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน


     ๓. การจัดตั้งศูนย์การเรียนชุมชนชาวมอแกน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ในทะเลอันดามัน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดพังงา และยังเป็นที่อยู่ของชาว “มอแกน”ซึ่งปกติอาศัยอยู่ในเรือ ร่อนเร่จับปลาอยู่ในท้องทะเล แต่ในช่วงฤดูมรสุม (พฤษภาคม – พฤศจิกายน)ชาวมอแกนจะขึ้นไปสร้างบ้านเรือนชั่วคราวบนหมู่เกาะสุรินทร์เพื่อหลบพายุ บางส่วนยังทำงานรับจ้างกับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ด้วย
      จากการสำรวจพื้นที่จังหวัดพังงาภายหลังการเกิดธรณีพิบัติภัย พบว่า มีชุมชนชาวมอแกนที่ได้รับอนุญาตให้ตั้งหมู่บ้านอยู่ในบริเวณเกาะสุรินทร์ใต้ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อำเภอคุระบุรี จำนวน ๔๘ ครอบครัว ประชากรประมาณ ๑๘๔ คน ในจำนวนนี้มีเด็กและเยาวชนวัย ๓ – ๑๖ ปี จำนวนมาก ซึ่งไม่รู้หนังสือและไม่มีโอกาสได้เรียน          
      สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชปณิธานที่จะพระราชทานความช่วยเหลือและพัฒนาการศึกษาแก่ประชาชนโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา เผ่าพันธุ์
โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยที่ด้อยโอกาส เมื่อทรงทราบถึงสภาวะความด้อยโอกาสทางการศึกษาของชาวมอแกน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ  ให้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียนชุมชนชาวมอแกน อันเป็นเขตพื้นที่จัดการพิเศษในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เพื่อให้ชาวมอแกนเหล่านี้มีโอกาสได้เรียนหนังสือ หัดอ่าน - เขียนภาษาไทย เรียนรู้ที่จะดำรงชีพในสังคมไทยที่เป็นเสมือนบ้านของพวกเขาเหล่านั้น ในการนี้ มีหน่วยงานร่วมดำเนินงานสนองพระราชดำริ ได้แก่ อำเภอคุระบุรี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพรรณพืช  สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเป็นผู้ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ และได้ขอพระราชทานเงินสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์การเรียน อาทิ การจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์การเรียนการสอน สื่อการศึกษา ค่าตอบแทนครูผู้สอน การจัดอาหารกลางวันและอาหารเสริมนม  ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ สื่อการเรียนทางไกลผ่านดาวเทียม โทรทัศน์ เครื่องเล่นดีวีดี วิทยุเทป
     การจัดตั้งศูนย์การเรียน เริ่มต้นตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๔๘ ก่อสร้างศูนย์การเรียนจนเสร็จสิ้นในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๔๘ เริ่มรับนักเรียนได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๘ เป็นต้นมา และคาดว่าจะให้การสนับสนุนต่อไปถึงประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๙  รวมระยะเวลาประมาณ ๑ ปี เมื่อมีศูนย์การเรียนสำหรับชุมชนชาวมอแกนที่เกาะสุรินทร์ มีครูผู้สอนประจำที่ได้รับพระราชทานเงินเดือน เด็กชาวมอแกนจำนวนประมาณ ๖๐ คน มีโอกาสได้รับประทานอาหารกลางวันที่ถูกหลักโภชนาการที่โรงเรียนจัดให้ในวันเรียน มีโอกาสเรียนหนังสือ โดยมีเป้าหมายเบื้องต้นที่จะให้สามารถพูด อ่าน เขียนภาษาไทยและคิดเลขได้


     ๔.การส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กเล็ก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กตั้งแต่ทารกแรกเกิด เพื่อให้เด็กเจริญเติบโตและแข็งแรง มีพัฒนาการที่ดีในทุก ๆ ด้าน พร้อมที่จะเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนต่อไป สำหรับพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติ ทรงพระราชดำริให้ดำเนินงานโครงการช่วยเหลือและพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนขึ้นในชุมชนหรือหมู่บ้านที่ต้องการความช่วยเหลือ เพื่อช่วยเหลือครอบครัวที่ประสบภัย ช่วยให้เด็กเล็กที่บิดามารดาเสียชีวิต สูญหาย ได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม      
     ในตำบลศาลาด่าน อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ประกอบด้วยหมู่บ้านที่อยู่ในเขตบริการด้านการศึกษาของโรงเรียนชุมชนบ้านศาลาด่าน จำนวน ๖ หมู่บ้าน เป็นพื้นที่ที่ยังไม่มีสถานดูแลเด็กก่อนวัยเรียน ซึ่งถ้าจะส่งเด็กเล็กไปเข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่อื่น เด็ก ๆ จะต้องเดินทางไปไกล ผู้ปกครองจึงไม่นิยมส่งบุตรหลานไปเรียน ทำให้โอกาสที่เด็กจะได้รับการดูแลอย่างถูกต้องลดน้อยลงไป ซึ่งหากเด็ก ๆ ไม่ได้รับการเตรียมความพร้อมที่ดี อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตเด็กนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการพัฒนาเด็กตั้งแต่วัยก่อนเข้าเรียน เนื่องจากการมีพัฒนาการที่ดี เติบโตสมวัย จะเป็นพื้นฐานที่ดีของการศึกษาในอนาคตต่อไปอีก ดังนั้น จึงมีประโยชน์อย่างมาก ที่จะจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่ดังกล่าวโดยให้โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เป็นผู้ดำเนินการควบคุมดูแล เนื่องจากจะสามารถดูแลเด็กได้อย่างต่อเนื่องในระดับการเรียนที่สูงขึ้น
      ทางสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ จึงได้ดำเนินงานจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในโรงเรียนชุมชนบ้านศาลาด่าน ตำบลศาลาด่าน อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ โดยจะได้มีการจัดสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ให้การสนับสนุนค่าตอบแทนผู้ดูแลเด็ก ค่าอาหารกลางวันและอาหารเสริม ระยะเวลา ๑ ปี โดยหลังจากนั้นองค์กรท้องถิ่นจะได้รับช่วงการดูแลต่อไป โดยมีหน่วยงานในพื้นที่ที่ร่วมรับผิดชอบ ได้แก่ โรงเรียนชุมชนบ้านศาลาด่าน องค์การบริหารส่วนตำบลศาลาด่าน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากระบี่          
      ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนบ้านศาลาด่าน เริ่มต้นการก่อสร้างในเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๔๙ จนแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๙ สามารถรับเด็กนักเรียนได้ตั้งแต่ภาคการศึกษาแรกของปีการศึกษา ๒๕๔๙ เป็นต้นไป เมื่อชุมชนนี้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ก็จะทำให้เด็กก่อนวัยเรียนที่เป็นลูกหลานชาวบ้านในพื้นที่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและเหมาะสม ในขณะที่ผู้ปกครองต้องไปประกอบอาชีพ โดยคาดว่าจะมีเด็กเล็กก่อนวัยเรียนเข้ารับการดูแลที่ศูนย์ ฯ ประมาณปีละ ๔๐ คนก่อนที่จะผ่านขึ้นชั้นเรียนในระดับปฐมวัยต่อไป


     ๕.การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพประชาชนในพื้นที่ประสบภัย  การดำเนินงานโครงการฟื้นฟูประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ หนึ่งในกิจกรรมที่จะช่วยฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการดำรงชีวิต คือการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพท้องถิ่น ให้ประชาชนที่สนใจมารวมกลุ่มกันประกอบอาชีพ เพื่อให้มีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ สามารถสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว เสริมสร้างความหลากหลายทางรายได้ เป็นการสร้างความมั่นคงในชีวิต นอกจากนี้ การทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม เป็นการสร้างความสามัคคีในชุมชน เสริมสร้างจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม สมาชิกได้เรียนรู้วิธีการดำเนินการของกลุ่มอาชีพ เช่น การลงทุน การทำบัญชี การบริหารจัดการ โดยใช้ระบบทำงานด้วยการร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ตามแนวทางของหลักการสหกรณ์                        
      กิจกรรมในโครงการส่งเสริมอาชีพ ประกอบด้วย การจัดโครงการฝึกอบรมให้ความรู้ที่เป็นทักษะวิชาชีพ และสร้างกระบวนการทำงานเป็นกลุ่ม จัดสร้างอาคารสถานที่ประกอบการ จัดหาเครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ จัดตั้งเงินกองทุนหมุนเวียน เป็นการดำเนินงานในหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ จำนวน ๖ หมู่บ้าน ใน ๓ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง ๒ กลุ่ม จังหวัดพังงา ๒ กลุ่ม และจังหวัดตรัง ๒ กลุ่ม   ได้แก่ กลุ่มอาชีพกระเทาะเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ บ้านทุ่งละออง ตำบลบางวัน อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา กลุ่มอาชีพถนอมอาหารทะเล บ้านบางเบน ตำบลม่วงกลวง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง บ้านหาดทรายดำ ตำบลหงาว อำเภอเมือง จังหวัดระนอง และบ้านฉางหลาง ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง กลุ่มอาชีพทำผ้าบาติก บ้านในไร่ ตำบลนาเตย อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา กลุ่มอาชีพทำดอกไม้ประดิษฐ์จากเปลือกหอย บ้านโคกสะท้อน ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง
      
                                 การสนับสนุนด้านการตลาดของร้านภูฟ้า

      สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้ง “ร้านภูฟ้า”ขึ้นตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๔๔ เพื่อเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากโครงการส่งเสริมอาชีพประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ ฯ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากโครงการฝึกอาชีพของนักเรียนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง”โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และโรงเรียนในพื้นที่โครงการตามพระราชดำริ ฯ ทั่วประเทศ
      ปัจจุบัน ร้านภูฟ้าเปิดดำเนินการแล้ว ๗ สาขา ได้แก่ สาขาสยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ สาขาสุขุมวิทซอย ๗ สาขาพระที่นั่งวิมานเมฆ สาขาถนนกำแพงเพชร ๒ สาขาจตุจักรโครงการ ๒๔ สาขาบอง มาร์เช่ สาขาหัวหิน นอกจากนี้ยังมี “ร้านภูฟ้าผสมผสาน”ศูนย์การค้าสยาม พารากอน ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการที่บูรณาการความรู้สาขาต่างๆ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ของที่ระลึก
      เงินรายได้จากการดำเนินงานของร้านภูฟ้า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานกลับไปเพื่อการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ ฯ ในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ โครงการจัดตั้งสถานศึกษาใหม่ในพื้นที่จังหวัดตาก โครงการพัฒนาการศึกษาสามเณรในพื้นที่จังหวัดน่าน โครงการสนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องมือในการประกอบอาชีพสำหรับกลุ่มอาชีพในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น ประมาณการเงินพระราชทานจากรายได้ของร้านภูฟ้าเพื่อการนี้ ๓๓,๙๔๘,๐๘๒ บาท (ปีงบประมาณ ๒๕๔๖ – ๒๕๔๙) 


      นอกจากนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือราษฎรผู้ประสบภัยพิบัติในภาคใต้ ที่ได้รับการสนับสนุนให้รวมกลุ่มกันประกอบอาชีพด้านการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ แต่ไม่สามารถหาตลาดได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ร้านภูฟ้าช่วยเหลือรับซื้อผลิตภัณฑ์จากกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ประสบภัยตลอดมา
      ผลิตภัณฑ์จากกลุ่มราษฎรในพื้นที่ประสบภัยภาคใต้ที่ร้านภูฟ้าได้รับซื้อมาจำหน่าย อาทิ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์กระเทาะเปลือก อาหารทะเลอบหรือตากแห้ง ผ้ามัดย้อม เสื่อจักสานจากเตยทะเล ผ้าบาติก เครื่องประดับจากหินสีและลูกปัด เทียนเจล ตะกร้าจักสานจากเส้นพลาสติก ดอกไม้ประดิษฐ์จากเปลือกหอย ดอกไม้ประดิษฐ์จากใยบัว ผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าว ของที่ระลึกประดิษฐ์จากไม้ เสื้อถักไหมพรม เสื้อยืดสกรีนลาย เป็นต้น
      การช่วยเหลือรับซื้อสินค้าของร้านภูฟ้า สามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มราษฎรผู้ประสบภัยพิบัติในภาคใต้ จำนวน ๒๓ กลุ่มใน ๔ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง ๒ กลุ่ม จังหวัดพังงา ๑๐ กลุ่ม จังหวัดภูเก็ต ๑ กลุ่ม จังหวัดกระบี่ ๘ กลุ่ม และจังหวัดตรัง ๒ กลุ่ม ทำให้กลุ่มราษฎรเหล่านี้มีรายได้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ นำไปจัดซื้อวัตถุดิบ ดำเนินกิจกรรมการผลิต พัฒนาประสบการณืให้มีความชำนาญจนก้าวหน้าขึ้น ปูพื้นฐานไปสู่อาชีพที่ยั่งยืน และพึ่งตนเองได้ในอนาคต 
         
           โครงการอื่น ๆ ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
        
      นอกเหนือจากนี้ ยังได้มีการดำเนินงานช่วยเหลือประชาชนในชุมชนที่ประสบภัยพิบัติ ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อีกมากมายหลายโครงการ อาทิ
        
     ๑. ด้านการช่วยเหลือเด็ก
     จังหวัดภูเก็ต      โครงการก่อสร้างโรงอาหารโรงเรียนวัดมงคลวราราม และก่อสร้างรั้วโรงเรียนเกาะสิเหร่ อำเภอเมือง  โครงการจัดหาโต๊ะ เก้าอี้และสนามเด็กเล่นโรงเรียนบ้านสาคู อำเภอถลาง โครงการจัดซื้อเครื่องแบบและแบบเรียนให้นักเรียนโรงเรียนบ้านสะปำ อำเภอเมือง โครงการจัดหาแหล่งน้ำในโรงเรียน ๒ โรงเรียนของจังหวัดภูเก็ต โครงการจัดหาแหล่งน้ำและพัฒนาระบบน้ำดื่มสะอาดในโรงเรียน ๔ โรงเรียนของจังหวัดภูเก็ต โครงการจัดหาสนามเด็กเล่นในโรงเรียน ๖ โรงเรียนของจังหวัดภูเก็ต โครงการสนับสนุนอาหารกลางวันเพื่อนักเรียนขาดแคลนในโรงเรียน ๒ โรงเรียนของจังหวัดภูเก็ต โครงการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเด็กกำพร้าที่ประสบภัยพิบัติ

     ๒. ด้านการช่วยเหลือให้ฟื้นตัวในการครองชีพ
     จังหวัดภูเก็ต      โครงการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพประมงพื้นบ้าน ตำบลป่าคลอก โครงการจัดหาอุปกรณ์ประมงและเสริมศักยภาพการผลิตของชุมชน ตำบลสาคู
     จังหวัดพังงา      โครงการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบภัยพิบัติ โครงการ Sharing in Solidarity เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านอาชีพ โครงการจัดหาอุปกรณ์ประมงพื้นบ้าน
     จังหวัดกระบี่      โครงการจัดหาเรือหัวโทง อำเภอเหนือคลองและอำเภอเกาะลันตา  โครงการต่อเรือประมง